| |
---|
|
1. ข้าราชการ เมื่อลาออก หรือเกษียณ จะได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใดจากรัฐ |
|
ข้าราชการจะได้รับบำเหน็จบำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ สวัสดิการรักษาพยาบาลของตนเองและบุคคลในครอบครัว |
|
2. ข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 และสมัครกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าลาออกจากราชการและเลือกรับบำนาญ
จะได้รับเงินอะไรบ้างจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ |
|
ข้าราชการเป็นสมาชิก กบข. ลาออกจากราชการเลือกรับบำนาญ จะได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ |
|
3. ข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าลาออกจากราชการ หรือเกษียณอายุราชการ
เลือกรับบำนาญ และจะมีวิธีการคำนวณอย่างไร |
|
การคำนวณบำเหน็จบำนาญจะเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย
และบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 |
|
4. ข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ถ้าลาออกจากราชการ
หรือเกษียณอายุราชการ เลือกรับบำนาญ และยังไม่ขอรับเงินคืนจาก กบข. ทำได้หรือไม่ |
|
สามารถทำได้ โดยจะได้รับเงินบำนาญ ส่วนเงิน กบข. สามารถฝากให้ กบข. บริหารต่อได้ ซึ่งไม่ต้องส่งเงินสะสม และมหาวิทยาลัยไม่ต้องส่งเงินสบทบ
และสามารถเปลี่ยนแปลงการบริหารหรือขอรับเงินคืนจาก กบข. ได้ภายหลัง |
|
5. ลูกจ้างประจำ ถ้าลาออกจากราชการและประสงค์จะขอรับบำเหน็จรายเดือน จะต้องปฏิบัติงานเป็นระยะเวลาเท่าไร |
|
ลูกจ้างประจำต้องมีเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับบำเหน็จรายเดือนได้ |
|
6. ลูกจ้างประจำที่เลือกรับบำเหน็จรายเดือน มีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือไม่ |
|
บำเหน็จรายเดือนไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการจ่ายตรงรักษาพยาบาล |
|
7. การขอรับบำเหน็จดำรงชีพ จะกระทำได้เมื่อใดบ้าง |
|
เมื่อข้าราชการพ้นจากราชการและเลือกรับบำนาญ จะได้บำเหน็จดำรงชีพไม่เกิน 200,000 บาท
ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ได้รับไม่เกิน 200,000 บาท
ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ได้รับไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ จะได้รับบำเหน็จดำรงชีพกี่ครั้งขึ้นอยู่กับจำนวนเงินบำนาญของแต่ละคน โดยการนำบำนาญที่ได้รับในแต่ละเดือนคูณสิบห้า หากไม่ขอรับพร้อมกับบำนาญสามารถยื่นขอรับภายหลังได้ |
|
8. กรณีข้าราชการ หรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย ทายาทจะได้รับอะไรจากทางราชการหรือไม่ |
|
รัฐจะจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ทายาทของผู้ตาย หรือบุคคลซึ่งผู้ตายแสดงเจตนาไว้โดยจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว เรียกว่า บำเหน็จตกทอด และเงินช่วยพิเศษ |
|
9. ใครมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดจากทางราชการบ้าง |
|
- ทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
- กรณีไม่มีทายาทตามกฎหมายให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ตายได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด |
|
10. กรณีที่ทายาทของข้าราชการ หรือผู้รับบำนาญ ถึงแก่ความตาย และไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด บุคคลอื่นมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ |
|
กรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทตามกฎหมาย และไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดเป็นอันยุติลง |
|
11. กรณีที่ผู้ตายไม่มีทายาทตามกฎหมายและไม่ได้ทำหนังสือแสดงเจตนาระบุผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัด แต่มีญาติพี่น้องที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก
จะใช้คำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นหลักฐานการขอรับบำเหน็จตกทอดกรณีดังกล่าวกระทำได้หรือไม่ |
|
ไม่ได้ เพราะผู้จัดการมรดกไม่สามารถขอรับบำเหน็จตกทอดได้เนื่องจากบำเหน็จตกทอด มิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เป็นเงินที่รัฐจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ทายาทของผู้ตาย
โดยการตราเป็นกฎหมายไว้โดยเฉพาะบัญญัติให้แก่บุคคลตามที่กฎหมายกำหนด บำเหน็จตกทอดจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถยกให้แก่ผู้ใดหรือตกทอดไปถึงผู้ใดได้
ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธิขอรับบำเหน็จตกทอดดังกล่าวได้ |
|
12. ถ้าชื่อ-สกุลบิดา มารดา ของผู้ตาย หรือชื่อ-สกุลของผู้ตาย ในเอกสารแต่ละฉบับใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ตรงกัน จะสามารถใช้เอกสารใดเป็นหลักฐานในการขอรับบำเหน็จตกทอดได้หรือไม่ |
|
กรณีนี้จะต้องมีหลักฐานอื่นประกอบ เช่น หนังสือรับรองจากทางสำนักงานเขต หรืออำเภอระบุว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน หรือหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล เป็นต้น |
|
13. ถ้าบิดา มารดา ของผู้ตาย ได้ถึงแก่ความตายเป็นเวลานานแล้ว และไม่สามารถค้นหาใบมรณบัตรของบิดามารดา จะใช้หลักฐานใดในการยื่นขอรับบำเหน็จตกทอด |
|
ติดต่อสำนักงานเขตเพื่อขอหนังสือรับรองการตายตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอกำหนด หรือหนังสือรับรองการตายจากผู้ที่ควรเชื่อถือได้และไม่มีส่วนได้เสียในบำเหน็จตกทอดนั้น
(เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา) หรือหนังสือรับรองการตายจากบุคคลที่เป็นข้าราชการระดับชำนาญงาน ชำนาญการ หรือเทียบเท่า หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับ 5 |
|
14. ถ้าบิดา มารดา ของผู้ตาย ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่แต่งงานอยู่กินกันก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 บิดาจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ และจะใช้หลักฐานใดประกอบในการยื่นขอรับบำเหน็จตกทอด |
|
บิดามีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด โดยใช้หลักฐานเป็นหนังสือรับรองของผู้ที่ควรเชื่อถือได้ที่รับรองว่าบิดามารดาสมรสก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478
หรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตรของบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งเกิดภายในปี พ.ศ.2478 หรือก่อนนั้น |
|
15. หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีอะไรบ้าง |
|
- สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ตายกับมารดาของบุตร
- สำเนาทะเบียนการรับรองบุตร หรือ
- สำเนาคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่บิดาถึงแก่ความตาย
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม |
|
16. ถ้าข้าราชการผู้ใดตาย ก่อนตายได้มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และการสอบสวนยังไม่สิ้นสุดทายาทจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ |
|
ส่วนราชการต้องส่งเรื่องให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาวินิจฉัยว่า ถ้าผู้นั้นไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษถึงไล่ออก
ทายาทก็ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด แต่ถ้าพิจารณาแล้วผู้นั้นไม่มีความผิด หรือมีความผิดแต่โทษที่ได้รับไม่ถึงกับไล่ออก ทายาทก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามปกติ |
|
17. ถ้าการตายของข้าราชการเกิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง ทายาทจะมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ |
|
ทายาทจะไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดแต่อย่างใด |
|
18. เงินช่วยพิเศษ (ค่าทำศพ) สามารถจ่ายให้กับบุคคลประเภทใดบ้าง |
|
เมื่อข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และผู้รับบำนาญ ถึงแก่ความตาย
ให้จ่ายเงินช่วยพิเศษแก่บุคคลที่ผู้ตายได้แสดงเจตนาระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษไว้เป็นหนังสือยื่นต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด |
|
19. ถ้าผู้ตายได้ทำหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ แต่มิได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ
หรือส่งให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการแต่เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการไม่ได้ลงชื่อไว้ หนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดฉบับดังกล่าวจะมีผลหรือไม่ |
|
ถ้าไม่ส่งหนังสือดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ หนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดจะไม่มีผลตามกฎหมาย หากได้ส่งให้เจ้าหน้าที่แล้วแต่เจ้าหน้าที่มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้
ต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบลงชื่อในหนังสือแสดงเจตนาระบุ ตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดไว้ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะมีผลตามกฎหมาย |
|
20. กรณีที่บุคคลที่ผู้ตายแสดงเจตนาไว้ตายก่อนผู้แสดงเจตนา หรือถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจ่ายเงินช่วยพิเศษ ใครมีสิทธิรับเงินช่วยพิเศษบ้าง |
|
ผู้มีสิทธิรับเงินช่วยพิเศษตามลำดับเพียง 1 คนและต้องเป็นทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ คู่สมรส บุตร บิดา มารดา และถ้าบุคคลในลำดับก่อนยังมีชีวิตอยู่ บุคคลในลำดับถัดไปจะไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษ |
|
21. ผู้รับบำนาญและผู้รับบำเหน็จรายเดือน สามารถยื่นขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดได้รับเมื่อใดบ้าง |
|
เมื่อได้รับบำนาญหรือบำเหน็จรายเดือนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ติดต่อส่วนราชการต้นสังกัด ตรวจสอบหลักฐานทายาท ยื่นคำร้องขอรับหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดเพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับธนาคาร |
|
22. ผู้รับบำนาญ และผู้รับบำเหน็จรายเดือน ได้ยื่นขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปแล้วทำหาย จะต้องดำเนินการอย่างไร |
|
กรมบัญชีกลางจะออกหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดให้ครั้งเดียว ถ้าทำหายจะต้องแจ้งความ และยื่นขอใหม่พร้อมแนบใบแจ้งความเป็นหลักฐาน |
|
23. ถ้าผู้รับบำนาญยื่นขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปแล้ว และมีเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ยังไม่ได้รับ สามารถยื่นคำร้องขอรับได้หรือไม่ |
|
ยื่นขอรับได้ โดยกรมบัญชีกลางจะประสานกับธนาคาร ในการโอนเงินที่ผู้มีสิทธิได้รับตามเลขที่บัญชีที่ธนาคารผู้ให้กู้บันทึกในระบบ Digital Pension |
|
24. ผู้รับบำเหน็จรายเดือนถึงแก่ความตาย ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ ถ้ามีสิทธิจะได้รับจำนวนเท่าใด |
|
ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ดังนี้
- ทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
- กรณีไม่มีทายาทตามกฎหมายให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ตายได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดตามแบบที่กระทรวงการคลังกำหนด
- ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน 15 เท่าของบำเหน็จรายเดือน |
|
25. ผู้รับบำนาญหรือผู้รับบำเหน็จรายเดือน ได้ยื่นขอรับหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดเพื่อไปยื่นกู้กับธนาคารแล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดหรือไม่ |
|
ธนาคารจะตรวจสอบหนี้คงเหลือและประสานกับกรมบัญชีกลางเพื่อเรียกเก็บส่วนที่ธนาคารได้จ่ายไป ที่เหลือจึงจะจ่ายให้กับทายาท |